สำหรับคนวัยทำงานแล้ว คนเดือนอาจจะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตในขณะที่ยังทำงานอยู่ แต่เมื่อเกษียณไปแล้ว เราจะต้องเผชิญหน้ากับรายจ่ายมากมาย ในขณะที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานอีกแล้ว ใครที่ทำเอกชนก็คงจะมีสวัสดิการอย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนระบบราชการ คงต้องยกให้ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ที่เราคงจะเคยได้ยินว่า นี่อาจจะเป็นระบบออมเกษียณภาคบังคับที่ดีที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แล้วกองทุนที่ว่านี้คืออะไร เราจะเรียนรู้พร้อม ๆ กันค่ะ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ คืออะไร
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือระบบกองทุนเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับของข้าราชการ ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ผลประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการไปแล้ว
- ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
- จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ให้แก่สมาชิก
เงินกองทุน กบข. มีอะไรบ้าง
กบข. จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารเงินกองทุนซึ่งเป็นเงินออมของข้าราชการ และเป็นเงินที่รัฐในฐานะนายจ้างส่งเข้ากองทุน เพื่อเป็นสวัสดิการและหลักประกันในวัยเกษียณให้แก่สมาชิก กบข. โดยมีเงินประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- เงินประเดิม : เงินที่ภาครัฐนำส่งเข้าบัญชีของสมาชิก กบข. ที่เป็นข้าราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 เพื่อชดเชยเงินบำนาญที่ลดลง โดยสมาชิกมีสิทธิขอรับเงินประเภทนี้ได้ เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก และจะต้องเป็นผู้มีสิทธิรับและเลือกบำนาญเท่านั้น
- เงินชดเชย : เงินที่ภาครัฐนำส่งเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน เป็นการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่สมาชิก เพื่อชดเชยสูตรบำนาญที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะได้รับสิทธินี้ก็ต่อเมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิก และจะต้องเป็นผู้มีสิทธิรับและเลือกบำนาญเท่านั้น
- เงินสะสม : เงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเรทอัตราตอนนี้อยู่ที่ 3% ของเงินเดือนสมาชิก
- เงินสมทบ : เงินที่ภาครัฐสมทบเข้ากองทุนให้สมาชิกที่สะสมเงินเป็นประจำทุกเดือน โดยเรทอัตราอยู่ที่ 3% ของเงินเดือนสมาชิก
- เงินสำรอง : เงินที่ภาครัฐจัดสรรงบประมาณส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้เป็นเงินสำรองสำหรับการจ่ายบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการ ในช่วงที่ประเทศประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐจะต้องจัดสรรเงินส่วนนี้เป็นเงินสำรองเข้ากองทุนรายปีไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปี จนกว่าเงินสำรองจะงอกเงยเป็น 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญประจำปี
- เงินสะสมส่วนเพิ่ม : เงินที่สมาชิกแจ้งความประสงค์สะสมเพิ่มจากอัตราปกติที่กำหนดไว้ โดยสามารถส่งเงินเพิ่มได้ไม่เกิน 12% ของเดือน และเมื่อรวมกับเงินสะสมเดิมจะต้องไม่เกิน 15% ของเงินเดือน แต่ภาครัฐจะยังสมทบเงินในอัตรา 3% เท่าเดิม
ช่องทางในการขอรับเงินคืนจาก กบข.
- เช็ค
กบข.จะสั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชีผู้มีสิทธิรับเงิน โดยผู้รับเงินจะต้องนำเช็คเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ใดก็ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันที่ระบุในเช็ค
- ธนาณัติ
กบข.จะสั่งจ่ายธนาณัติเข้าบัญชีผู้มีสิทธิรับเงิน โดยผู้รับเงินจะต้องนำธนาณัติไปขึ้นเงินที่ที่ทำการไปรษณีย์ตามที่ระบุไว้ในธนาณัติ ภายในระยะเวลา 4 เดือน
- โอนเงินเข้าบัญชี
วิธีจะเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็วที่สุด โดยจะมีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการดังนี้
- มีบัญชีเงินฝากของธนาคารภาครัฐ หรือธนาคารพาณิชย์เป็นบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน
- บัญชีเงินฝากจะต้องเป็นชื่อสมาชิกเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้บัญชีร่วม ยกเว้นสมาชิกเสียชีวิต ชื่อบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นชื่อบัญชีผู้จัดการมรดกหรือทายาทเจ้าของบัญชีเท่านั้น
- แนบสำเนาสมุดเงินฝากหน้าที่มีชื่อและเลขที่บัญชี พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องมาพร้อมกับแบบขอรับเงินคืนจากกบข.
ทำไมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จึงแตกต่างจากกองทุนอื่น ๆ
นายจ้างหรือรัฐบาล จะช่วยสมทบเพิ่มให้ที่เพดาน 3% เท่านั้น ไม่สมทบเพิ่มให้ตามการสะสมเงินเพิ่มของลูกจ้าง ในขณะที่ลูกจ้างจะต้องสะสมเงินอย่างน้อย 3% ของเงินเดือน และสามารถขอสะสมเงินเพิ่มได้อีกไม่เกิน 12% รวมเป็นเงินสะสมสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินเดือน นอกจากนี้ ยังมีเงินชดเชยสมทบให้อีก 2% ที่ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยนี้ ในตอนเกษียณอายุและเลือกรับเป็นเงินบำนาญเท่านั้น
จุดเด่นของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
จุดเด่นที่น่าสนใจของกบข. ก็คือแผนการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้สมาชิกสามารถเลือกปรับได้อย่างครอบคลุมและมีความยืดหยุ่นมาก เมื่อเทียบกับแผนเกษียณของภาคเอกชน
เราก็ได้รู้จักกันไปแล้วนะคะ กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่ามีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าใครที่ทำเอกชนก็อย่าได้น้อยใจไป เพราะของแบบนี้อยู่ที่วินัยการออมของแต่ละคนด้วยเช่นกัน