วิเคราะห์ Amazon Go ตัวอย่างสังคมไร้เงินสดขนาดเล็ก กับความเป็นไปได้ในไทย

ทุกครั้งที่เราเข้าร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นเรื่องปกติที่หลังจากเราเลือกของแล้ว ก็ต้องมายืนเข้าคิวเพื่อรอพนักงานแสกนบาร์โค้ด เพื่อชำระเงิน แม้จะมีเครื่องรูดบัตรเครดิต หากยอดซื้อไม่ถึงจำนวนที่กำหนด คุณก็อาจต้องควักเงินสด และมานับเงินทอนกัน

Amazon Go

Amazon Go
Amazon Go

ในบางพื้นที่ของประเทศไทย หรือในประเทศพัฒนาแล้ว อาจมีระบบ “Self-checkout”ที่เพิ่มช่องชำระเงินไร้พนักงาน โดยคนซื้อสามารถนำสินค้าไปสแกนบาร์โค้ดด้วยตัวเอง และชำระเงินด้วยบัตรเครดิต แม้จะสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังหนีไม่พ้นการต้องยืนรอคิวเป็นบางครั้ง และการหยิบสินค้านับสิบชิ้นมาสแกนทีละอันอยู่ดี

“หยิบสิ่งที่คุณต้องการ แล้วเดินออกไปได้เลย”
Amazon Go คือตัวอย่างของ “ขั้นกว่า” ของสังคมไร้เงินสด ความสะดวกที่หลายคนไฝ่ฝัน ที่ลูกค้าไม่ต้องแม้แต่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาสแกน QR Code เพื่อชำระเงิน ไม่ต้องต่อคิว ไม่ต้องนับเหรียญ

บริษัท E-Commerce อันดับ 1 ของโลกอย่าง Amazon เล็งเห็นถึงความยุ่งยากนี้ (เพราะความเคยชิน จึงไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก) จึงเปิดร้าน Amazon Go ร้านสะดวกซื้อสุดล้ำ เปิดสาขาแรกที่เมือง Seattle รัฐ Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจุดเด่นของร้านคือ เพียงคุณสแกนบัญชี Amazon ของคุณผ่านแอป Amazon Go ก็สามารถเดินเข้าร้านไปเลือกซื้อสินค้า หลังจากนั้นก็สามารถเดินออกจากร้านไปได้เลย!

Cashless society

Amazon Go
Amazon Go

การซื้อของรูปแบบ Checkout-free อันแสนสะดวกนี้ ใช้ระบบคล้ายกับยานยนต์ไร้คนขับอย่าง computer vision, sensor fusion และ deep learning ระบบเหล่านี้อาจยังไม่ปลอดภัยพอที่จะใช้กับรถยนต์ แต่กับการซื้อของนั้น สามารถทำได้อย่างราบรื่น เพราะเซ็นเซอร์ และระบบประมวลผล มีความแม่นยำพอที่จะตรวจจับสินค้าที่คุณถือออกจากร้านครบทุกชิ้นก่อนจะตัดเงินในบัญชี Amazon ของคุณภายหลัง

สินค้าใน Amazon Go ส่วนใหญ่จะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม มีให้เลือกทั้งอาหารพร้อมทาน อาหารสด และอาหารกึ่งสำเร็จรูป และของใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะไม่มีเคาน์เตอร์ชำระเงิน แต่ภายในร้านยังมีพนักงานที่คอยให้คำแนะนำ และเตรียมอาหารสดให้ลูกค้า

สังคมไร้เงินสด หากเทคโนโลยีพร้อม สังคมต้องพร้อมด้วย
เทคโนโลยีที่ใช้ในร้าน Amazon Go เช่นระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับสินค้า ระบบบัญชีออนไลน์ และระบบธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใด บางสิ่งเป็นระบบที่เราใช้ประจำอยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่กระนั้น ร้าน Amazon Go หรือร้านในรูปแบบคล้ายกัน กลับยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าไหร่

ธนาคารไทย
ธนาคารไทย

ธนาคารไทย
หรือในมุมผู้บริโภค คนไทยจำนวนมาก ก็มีความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด พวกเขามีความคุ้นเคยกับการชำระเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต แอปธนาคาร ระบบพร้อมเพย์ ฯลฯ อยู่แล้ว แตในชีวิตประจำวัน คุณจะพบว่า หากคุณไม่พกเงินสด คุณอาจต้องวิ่งหาตู้เอทีเอ็ม ยืมเงินสดจากเพื่อน ควานหาเงินสด หรือเศษเหรียญในกระเป๋าที่หลงเหลืออยู่ เพื่อชำระค่าสินค้า ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น

ร้านนี้ไม่รับบัตร
ถ้าจะชำระด้วยบัตร ต้องมียอดขั้นต่ำ xxx บาท
ต้องใช้บัตร xxx เท่านั้น
ไม่รับพร้อมเพย์
นั่นเป็นเพราะ ภาพรวมของสังคมทั้งประเทศไทย ยังไม่พร้อม หรือไม่อยากตอบรับ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว เพราะสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless society ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม

ตัวอย่างสัมคมไร้เงินสดขนาดใหญ่ คงหนีไม่พ้นในประเทศจีน ที่ทั้งฝ่ายผู้จำหน่าย และผู้บริโภค มีความคุ้นเคยกับธุรกรรมการเงินแบบไร้เงินสดอยู่แล้ว ผ่าน WeChat Pay และ Alipay ถึงขนาดที่ว่า เคยมีคนไทยไปเปิดร้านค้าที่ตลาดนัดในจีน แต่ไม่ได้ติดตั้งระบบรองรับการจ่ายเงินผ่านแอป ปรากฎว่า คนส่วนใหญ่ไม่พกเงินสด หรือพกจำนวนน้อยมาก จนมีปัญหาในการซื้อสินค้าของเขา

เริ่มต้นจากสังคมขนาดเล็กก่อน ค่อยไปสังคมขนาดใหญ่
ประเทศไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน ที่ผ่านมาเราพึ่งพาเงินสดมาตลอด ดังนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนให้ทุกคนในสังคม เปลี่ยนมาใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนสังคมขนาดใหญ่ได้ หลายคนจึงเริ่มต้นจาก สังคมขนาดเล็ก เช่น ศูนย์อาหาร ศูนย์การค้า ที่รวบรวมทั้งผู้จำหน่าย และผู้ซื้อ ที่มีความต้องการไปในทิศทางเดียวกัน คือต้องการใช้ชีวิตแบบ “ไร้เงินสด ไร้กังวล”

ข้อดีคือ การสร้าง “สังคมไร้เงินสดขนาดเล็ก” เหล่านี้ จำนวนคนที่น้อย ทำให้ง่ายต่อการควบคุมคุณภาพ ความแม่นยำ ความปลอดภัย ของธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ที่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยนัก

เมื่อสังคมไร้เงินสดขนาดเล็กกระจายไปทั่วประเทศ ผู้คนจะเกิดความคุ้นเคยกับระบบนี้มากขึ้น เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน ความพร้อมทั้งด้านสังคม และเทคโนโลยีมาพร้อมกัน การเปลี่ยนประเทศให้เป็นสังคมไร้เงินสด ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น

แล้วคุณล่ะ? หาสังคมไร้เงินสดขนาดเล็กเจอหรือยัง?