อยากเปิดโรงงานต้องทําอะไรบ้าง?
เมื่อธุรกิจที่ทำมาสักระยะหนึ่ง เริ่มมองเห็นกำไรที่มากขึ้น ผู้ประกอบการหลายคนจึงเริ่มมองหาลู่ทางในการเปิดโรงงานหรือสร้างโรงงานเป็นของตัวเอง เพื่อขยับขยายกิจการให้ใหญ่มากขึ้น อีกทั้งยังต้องการที่จะลดต้นทุน จากการที่ต้องจ้าง Outsource มาผลิตสินค้าให้ ถึงแม้ว่าจะมองเห็นลู่ทางตรงนี้ แต่เชื่อเถอะว่าไม่ใช่ทุกคนจะเปิดโรงงานได้ หากยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรรู้ มาดูกันค่ะ ว่าถ้าอยากเปิดโรงงานเป็นของตัวเองจะต้องทำอะไรกันบ้าง
ข้อควรรู้สำหรับใครที่คิดอยากจะเปิดโรงงานเป็นของตัวเอง
การมีโรงงานเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปค่ะ ซึ่งการจะสร้างโรงงานขึ้นมานั้นจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างด้วยกัน แน่นอนว่าเหล่าผู้ประกอบการควรจะศึกษา หาข้อมูลเพื่อที่จะไม่เสียประโยชน์สำหรับตัวคุณเอง ซึ่งคำแนะนำข้อควรรู้ต่าง ๆ มีดังนี้
1.วางแผนการสร้างโรงงานและระบบจัดการภายในโรงงาน
หลายครั้งที่เรามักจะพลาดเพราะมองข้ามถึงความสำคัญในการวางแผนงาน จึงทำให้เราพลาดอะไรที่ไม่ควรเสียไป การวางแผนจะช่วยให้เรารัดกุมและมองเห็นช่องโหว่ที่อาจจะส่งผลเสียกับธุรกิจของเรา ผ่านการสร้างโรงงานนั่นเองค่ะ อีกทั้งโรงงานแต่ละประเภทมีการสร้างและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน โดยคุณจะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า วัตถุประสงค์ของโรงงานนี้สร้างมาเพื่อสินค้าประเภทใด เพื่อที่เราจะได้ออกแบบภายในโรงงานได้อย่างถูกต้อง สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างโรงงาน คือ เรื่องของงบประมาณและความคุ้มค่า เพราะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างค่อนข้างสูง รวมไปถึงค่าเครื่องจักร และระบบการจัดการภายในโรงงาน ดังนั้นผู้ประกอบการควรวางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม
2.ความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง
เคยได้ยินไหม ว่าทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะโรงงานจำเป็นต้องมีการนำสินค้ามาลงไว้ตลอด การเลือกทำเลจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ หากทำเลที่คุณเลือกรถบรรทุกไม่สามารถเข้าออกได้สะดวก ย่อมเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกัน ทำเลที่ตั้งของโรงงานจะต้องอยู่ใกล้บ้านเรือน ที่พักอาศัย ที่จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนบริเวณโดยรอบ
3.การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องขออนุญาต โดยเฉพาะโรงงาน การใช้สถานที่เพื่อตั้งเป็นโรงงาน ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทางการ เพื่อให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้การควบคุมไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสังคม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มีรายละเอียดดังนี้
- โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่ โรงงานที่มีคนงานไม่เกิน 20 คน และมีเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า สามารถดำเนินกิจการได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นเอกสารขออนุญาต
- โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานที่มีคนงานมากกว่า 20 คน แต่ไม่เกิน 50 คน และมีเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน
- โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานที่มีคนงานมากกว่า 50 คนและมีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะจากการผลิต ซึ่งโรงงานจำพวกนี้จะเป็นต้องดำเนินการขอใบอนุญาตก่อนถึงจะสร้างโรงงานได้
4.การเลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์
ต้องบอกเลยค่ะ ว่าโรงงานของคุณจะออกมาดีหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากทีมรับเหมาก่อสร้างโรงงาน เพราะอย่าลืมว่าโรงงานของคุณจะต้องมีโครงสร้างที่มั่นคง และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากได้ผู้รับเหมาที่ไม่ชำนาญย่อมเกิดผลเสียในภายหลัง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความอันตรายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สิน
5.หุ่นส่วนที่ดีจะช่วยแบ่งเบาภาระ
หลายครั้งที่ผู้ประกอบการบางคนเริ่มมองไม่เห็นสเกลต่อไปในอนาคต เพราะสเกลของกิจการเริ่มใหญ่ขึ้น และรู้สึกว่าจะไปต่อเพียงลำพังไม่ไหว เราแนะนำให้หาหุ้นส่วนดี ๆ ที่ไว้ใจได้สักคนค่ะ การมีพาร์ทเนอร์ที่ดีจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น มีคนช่วยในเรื่องดำเนินการต่างๆ อีกทั้งยังเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการทำโรงงานให้ใกล้ความจริงได้มากยิ่งขึ้น
เห็นไหมล่ะคะ ว่าการเปิดโรงงานไม่ได้ง่ายอย่างใจคิด แต่ก็ไม่ยากเกินไปจนเปิดไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่รายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ขององค์ประกอบที่จะนำมาประกอบร่างสร้างเป็นโรงงานขึ้นมา ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดโรงงาน